วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (MMR)

(เนื้อหาปรับปรุงใหม่ 01/2020)

โรคหัด

โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสหัด และเชื้อสามารถแพร่ผ่านอากาศโดยละอองน้ำหรือผ่านการสัมผัสน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งในลำคอของผู้ที่มีเชื้อโดยตรง และคนส่วนน้อยสามารถติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งของที่เปื้อนน้ำมูกหรือสารคัดหลั่งในลำคอ ผู้ที่ติดเชื้อแรก ๆ จะรู้สึกเหนื่อยล้า มีไข้ ไอ มีน้ำมูก ตาแดงและมีตุ่มขาวในช่องปาก และจะมีตุ่มผื่นแดงที่ผิวหนังในอีก 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ ตุ่มผื่นแดงมักจะลามจากหน้าลงไปทั่วตัว ในกรณีที่ร้ายแรงนั้นจะส่งผลถึงปอด ลำใส้ และสมอง ทำให้อาการสาหัสหรือแม้แต่เสียชีวิตได้

โรคคางทูม

โรคคางทูมเกิดจากเชื้อไวรัสคางทูมที่ส่งผลต่อต่อมน้ำลาย และต่อเยื่อประสาทในบางกรณี เชื้อสามารถแพร่ผ่านละอองน้ำของผู้ที่มีเชื้อ และแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสน้ำลายของผู้ที่มีเชื้อโดยตรง โรคคางทูมจะมีลักษณะเฉพาะคือมีอาการเจ็บและบวมบริเวณต่อมน้ำลายและมักเกิดขึ้นที่แก้ม(อาจเกิดได้ทั้งสองข้าง) บางครั้งอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หูดับ มีการติดเชื้อที่สมอง ตับอ่อน อัณฑะหรือรังไข่

โรคหัดเยอรมัน

โรครูเบลลาหรือที่รู้จักกันดีในชื่อโรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลลา เชื้อสามารถแพร่เชื้อผ่านตั้งแต่การสัมผัสกับสารคัดหลั่งทางจมูกและคอของผู้ที่ติดเชื้อไปจนถึงการรับละอองหรือการสัมผัสร่างกายของผู้ติดเชื้อโดยตรง ในเด็กมักมีไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย มีผื่น ต่อมน้ำเหลืองบวม มีอาการต่าง ๆ ที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนและมีอาการตาแดง คนไข้บางคนอาจไม่มีผื่นขึ้นเลย ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้คือ ปวดข้อ ภาวะเกล็ดเลือดน้อย และภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส

การติดเชื้อรูเบลลาสามารถส่งผลให้พัฒนาการทารกในครรภ์ผิดปกติ หรือเรียกว่าภาวะทารกพิการแต่กำเนิดจากการติดเชื้อหัดเยอรมัน (CRS) ภาวะนี้มักจะเกิดกับทารกในครรภ์ของผู้ที่ได้รับเชื้อมาในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ CRS จะมีลักษณะเฉพาะคือมีอาการหูหนวก มีต้อกระจก มีหัวใจผิดรูปร่าง และมีความบกพร่องทางสติปัญญา

วัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูม และโรคหัดเยอรมัน (MMR)

วัคซีน MMR สามารถป้องกันโรคดังกล่าวทั้ง 3 โรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฮ่องกงได้นำวัคซีน MMR บรรจุอยู่ในโปรแกรมการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในวัยเด็กฮ่องกง

เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดจำนวนสองครั้ง ผู้หญิงที่อยู่ในวัยที่มีบุตรได้และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อนนั้นควรตรวจสภาพภูมิคุ้มกันก่อนจะวางแผนการตั้งครรภ์ และอาจได้รับการฉีดวัคซีน MMR หากจำเป็น

A. บุคคลดังต่อไม่นี้ไม่ควรรับวัคซีน MMR หรือควรรอก่อน

  1. มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงจากการรับวัคซีน MMR ก่อนหน้านี้
  2. มีประวัติอาการแพ้เจลาตินหรือยาปฏิชีวนะบางตัวอย่างรุนแรง
  3. ผู้ที่มีอาการกดภูมิคุ้มกันรุนแรงจาก โรค หรือ วิธีการรักษา อื่น ๆ เช่น:
    • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    • กำลังรับการรักษาโรคมะเร็งอยู่ เช่น เคมีบำบัด และรังสีบำบัด
    • ผู้ที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ปริมาณเข้มข้น
  4. การตั้งครรภ์*
  5. ได้รับอิมมูโนโกลบูลินหรือได้รับผลิตภัณฑ์โลหิตอื่น ๆ (เช่น การถ่ายเลือด) ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา
  6. ได้รับวัคซีนเชื้อเป็นประเภทอื่น ๆ ในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

*โดยทั่วไป ผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลาสามเดือนหลังจากได้รับวัคซีน MMR และควรใช้วิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม

B. มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

  • เด็กบางคนอาจมีไข้เป็นเวลา 5-12 วันหลังได้รับการฉีดวัคซีน แต่ไข้มักจะลดลงภายใน 2-5 วัน ผู้ปกครองสามารถใช้ยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการได้ มีเด็กจำนวนน้อยที่อาจมีผื่นขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนแต่ผื่นมักจะหายไปภายในไม่กี่วัน มีเด็กส่วนน้อยที่อาจมีอาการบวมชั่วคราวที่บริเวณต่อมน้ำลายหลังแก้ม หรืออาจมีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลือง (บริเวณหัวหรือคอ)
  • มีโอกาสน้อยแต่เป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดปกติในระบบประสาทหลังรับการฉีดวัคซีน MMR เช่น อาจเกิดภาวะสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

หากท่านมีข้อสงสัยใด ๆ กรุณาติดต่อศูนย์แม่และเด็กของกรมอนามัย