รักบุตรของท่าน ป้องกันการบาดเจ็บ (0-1 ปี)

(HTML เนื้อหาปรับปรุงใหม่ 06/2020)

ทารกของท่านปลอดภัยดีหรือไม่

  • การบาดเจ็บเป็นผู้พรากชีวิตเด็กส่วนใหญ่ เด็กหลายคนเสียชีวิตหรือพิการทุกปีจากการบาดเจ็บ เพื่อป้องกันทารกของท่านจากการบาดเจ็บ ให้เฝ้าระวังพฤติกรรมของเขาและกำจัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด
  • เด็กอายุ 5 ปีหรือต่ำกว่าอาจไม่เข้าใจหรือไม่สามารถจำได้ว่า สิ่งใดเป็นอันตราย ผู้ปกครองไม่ควรประเมินความสามารถของพวกเขาสูงเกินไป
  • สถิติเปิดเผยว่าบ้านเป็นสถานที่ที่พบการบาดเจ็บของเด็กอายุ 0 ถึง 5 ปี มากที่สุด

การบาดเจ็บที่พบมากที่สุดในทารกอายุ 0 ถึง 1 ปี:

  • ทารกมักจะพยายามเอื้อมหยิบและจับสิ่งของเป็นครั้งแรกภายในเดือนที่ 4 ถึง 5 เมื่อนอนหงาย พวกเขาจะพยายามกลิ้งจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง หรือแม้แต่พลิกตัว พวกเขาจะสามารถนั่ง คลานและยืนได้ในไม่ช้า ไม่นานเกินรอ พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะเดินและสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทารกบางคนอาจพัฒนาได้เร็วกว่าทารกคนอื่น ๆ
  • ทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีไม่ได้มีความสามารถที่จะดูแลตนเองได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้ปกครองจะเข้าใจวิธีป้องกันการบาดเจ็บและกระทำมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
  • การบาดเจ็บที่พบมากที่สุดในทารกอายุต่ำกว่าหนึ่งปีประกอบด้วยการหล่นและการโดนน้ำร้อนลวก
  • หาคำแนะนำทางการแพทย์ทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ

การบาดเจ็บทั่วไปและมาตรการป้องกัน:

  1. ตก
    • อย่าปล่อยให้ทารก (ทุกช่วงอายุ) อยู่ตามลำพังบนเสื่อเปลี่ยนผ้าอ้อม โต๊ะ เตียงผู้ใหญ่หรือโซฟา หากท่านไม่ว่างที่จะดูแลบุตรของท่านในขณะนั้น ให้วางเขา/เธอในเตียงเด็กหรือเพลย์เพน
    • ยกรางด้านข้างขึ้นและล็อกอย่างแน่นหนาหลังจากวางทารกของท่านในเตียงเด็ก
    • รัดสายรัดนิรภัยและล็อกนิรภัยหลังจากวางทารกของท่านบนรถเข็นเด็กหรือรถเข็นเด็กเล็ก รถหัดเดินของเด็กหรือเก้าอี้สูง

    ทารกชอบคลานหรือกลิ้งไปมา
    จัดการให้พวกเขาอยู่อย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันการหล่น

  2. น้ำร้อนลวก
    • ในการเตรียมน้ำสำหรับอาบน้ำให้ทารกของท่าน ให้เติมน้ำเย็นลงในอ่างน้ำก่อนการเติมน้ำร้อน ผสมน้ำให้เข้ากันและทดสอบอุณหภูมิด้วยข้อศอกของท่าน
    • ตรวจสอบอุณหภูมิของนมหรืออาหารร้อนใด ๆ ที่ท่านกำลังจะป้อนทารกของท่านเพื่อทำให้แน่ใจว่าทารกจะไม่ถูกลวก
    • หลีกเลี่ยงการอุ่นนมหรืออาหารทารกอื่น ๆ ด้วยเตาไมโครเวฟเพราะอาหารหรือเครื่องดื่มที่อุ่นด้วยไมโครเวฟมีอุณหภูมิไม่สม่ำเสมอ แม้ว่าผิวหน้าของอาหารหรือเครื่องดื่มดูว่าร้อนปานกลาง แต่บ่อยครั้งที่ข้างในร้อนกว่ามาก ซึ่งสามารถลวกปากหรือคอของทารกได้
    • อย่าวางอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนใกล้กับมุมโต๊ะ หากมีอาหารร้อนบนโต๊ะ อย่าลืมเฝ้าดูทารกของท่านอย่างใกล้ชิด

    วางเครื่องดื่มร้อนให้ห่างจากการเอื้อมของเด็กทารก

    • การจัดการแผลน้ำร้อนลวก
      • เปิดน้ำให้ไหลอย่างช้า ๆ ผ่านบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก หรือจุ่มลงในน้ำเย็นเพื่อให้แผลเย็นตัวลง ห้ามนำน้ำแข็งประคบบนแผลโดยตรง
      • ค่อย ๆ นำเสื้อผ้ารอบ ๆ บริเวณที่บาดเจ็บออกอย่างเบามือ แต่อย่าลอกเสื้อผ้าที่ติดกับผิวหนังออก ให้พันบาดแผลไว้ด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าพันแผล
      • อย่าใช้น้ำมัน ยาสีฟัน เนย หรือซอสทำอาหารราดบนแผล อย่าพันแผลไว้ด้วยวัสดุปิดแผล เช่น ผ้าพันแผลหรือผ้านุ่ม
      • หาคำแนะนำทางการแพทย์ทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ
  3. การบาดเจ็บในห้องครัว
    • ติดตั้งรั้วที่ประตูห้องครัวเพื่อไม่ให้เด็กสามารถเข้าไปได้
    • ให้ทารกของท่านอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย (เช่น เตียงเด็กหรือเพลย์เพน) ก่อนที่ท่านจะไปทำอาหารในห้องครัว ทารกอายุ 4 เดือนหรือมากกว่าจะเอื้อมหยิบวัตถุ ดังนั้นอย่าอุ้มเขาสะพายบนหลังของท่านในขณะที่อยู่ในห้องครัว

    ทารกจะเอื้อมจับวัตถุ
    อย่าให้พวกเขาเข้าไปในขณะที่ท่านทำอาหารอยู่

บทสรุป:

  • การบาดเจ็บส่วนมากป้องกันได้ ดังนั้นผู้ปกครองควรระแวดระวังและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กเพื่อปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันที่เหมาะสม
  • ผู้ปกครองควรจับตามองว่าบุตรกำลังทำอะไรอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้บุตรอยู่ลำพังที่บ้านหรือให้เด็กอายุมากกว่าดูแลแทน

ผู้ปกครองที่ต้องการบริการดูแลบุตรชั่วคราวสามารถติดต่อศูนย์บริการดูแลบุตรชั่วคราว ศูนย์ดูแลและช่วยเหลือเด็กสัมพันธ์ หรือโครงการสนับสนุนเด็กเล็กในพื้นที่ใกล้เคียง ของกรมสวัสดิการสังคม สำหรับข้อมูลหรือคำถาม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์กรมสวัสดิการสังคมที่www.swd.gov.hk หรือติดต่อกลุ่มตรวจสอบและให้คำปรึกษาศูนย์ดูแลเด็กที่เบอร์ 2835 2016

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาโทรสายด่วนของกรมอนามัยต่อไปนี้:

สายด่วนสอบถามข้อมูล 24 ชั่วโมง(บริการอนามัยครอบครัว) 2112 9900
สายด่วนสุขศึกษา 2833 0111

หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่อไปนี้:

บริการอนามัยครอบครัว กรมอนามัย www.fhs.gov.hk
ศูนย์ป้องกันสุขภาพ กรมอนามัย www.chp.gov.hk
มูลนิธิสถาบันสุขภาพเด็กฮ่องกง www.childhealthhongkong.com
การป้องกันการบาดเจ็บในวัยเด็กของฮ่องกงและองค์กรวิจัย childinjury.hkuhealth.com