วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก (ดีที)

(Content revised 07/2017)

โรคคอตีบ

โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีไข้ เจ็บคอโดยมีแผ่นเยื่อสีเหลืองปนเทาอยู่ในลำคอและหายใจลำบาก ในกรณีที่รุนแรงสามารถทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ หัวใจล้มเหลว เส้นประสาทถูกทำลาย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ โรคคอตีบจะแพร่กระจายโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ เป็นส่วนน้อยที่บุคคลอาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสกับสิ่งที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งต่างๆ จากผู้ที่มีเชื้อ

โรคบาดทะยัก

โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายทางแผลบนผิวหนังและสร้างสารพิษที่ทำร้ายระบบประสาท ทำให้เกิดการหดเกร็งของร่างกายและการล็อคของขากรรไกรซึ่งสร้างความเจ็บปวด ดังนั้นผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถอ้าปากหรือกลืนได้ เมื่อโรคบาดทะยักส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อระบบหายใจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

วัคซีนโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก (ดีที)

  1. ทำไมจึงต้องรับการฉีดวัคซีน?

    วัคซีนดีทีสามารถป้องกันโรคร้ายทั้ง 2 โรคที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฮ่องกงวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และวัคซีนโรคโปลิโอชนิดเชื้อตาย (วัคซีนดีทีเอพี–ไอพีวี) ได้รับการแนะนำให้ฉีดในวัยเด็กอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามเด็กที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนได้ควรได้รับการฉีดวัคซีนดีที

  2. บุตรของฉันควรได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อใด?

    เพื่อให้บรรลุผลในการป้องกันที่ดีและยั่งยืน เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนดีทีจำนวน 3 เข็มในช่วงปีแรกหลังคลอด (คือเริ่มตั้งแต่อายุได้ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน) และฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเข็มเมื่ออายุ 18 เดือน ส่วนวัคซีนกระตุ้นอีกสองเข็มจะฉีดให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งและปีที่หก วัคซีนดีืีทีสามารถฉีดร่วมกันกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้

  3. บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรได้รับวัคซีนดีที
    • มีปฏิกิริยาอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบใดๆ ก็ตามของวัคซีนหรือหลังจากการฉีดวัคซีนดีทีในครั้งก่อน
    • มีปฏิกิริยาอาการแพ้อย่างรุนแรงต่อสารกันเสียบางชนิด
  4. มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
    • คนส่วนใหญ่ไม่มีปฏิกิริยาอาการที่รุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนดีที ในบางครั้งอาจมีไข้เล็กน้อย (มักเกิดขึ้นภายใน 3 วันหลังจากที่ฉีดวัคซีน) หรือมีอาการบวมเล็กน้อยรอบๆ บริเวณที่ฉีด ผู้ปกครองสามารถให้ยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการได้
    • หากเด็กมีอาการหายใจลำบากหรืออาการวิกฤต (ซึ่งพบได้ยากมาก) หลังจากที่ฉีดวัคซีน กรุณานำตัวเด็กไปที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลโดยทันทีเพื่อทำการรักษ

หากท่านมีข้อสงสัยใดๆ กรุณาติดต่อศูนย์สุขภาพเพื่อแม่และเด็กของกรมอนามัย

ในกรณีที่มีความไม่สอดคล้องกันของเนื้อหาระหว่างฉบับภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ของเอกสารแผ่นพับนี้ให้ยึดถือ เนื้อหาในฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลัก