ช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมการรับประทานที่ดีให้กับเด็ก

(Content revised 11/2015)

นอกจากการปรุงและจัดอาหารให้เด็กรับประทานแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถฝึกให้ลูกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสร้างพฤติกรรมการรับประทานที่ดีต่อสุขภาพได้ด้วยเคล็ดลับต่อไปนี้

สร้างแบบอย่างที่ดีในการรับประทาน

เด็กก่อนวัยเรียนชอบเลียนแบบคนอื่น เด็ก ๆ มักเลือกรับประทานอาหารตามคุณและเลียนแบบลักษณะการใช้ชีวิตของคุณ อาทิ ระดับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น ลองพยายามรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัวเท่าที่ทำได้ ให้ลูกเห็นว่าคุณเอร็ดอร่อยกับผลไม้ ผัก และธัญพืชเต็มเมล็ด ทั้งในมื้ออาหารหลักและอาหารว่าง ลองทานอาหารใหม่ๆ ร่วมกัน
ให้เด็กรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว

การรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวจะทำให้เด็กมีสมาธิอยู่กับสิ่งที่รับประทานและคุณก็จะมีโอกาสแสดงพฤติกรรมการรับประทานที่ดีได้ พยายามรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

ให้รับประทานอาหารหลากหลาย

การให้เด็กรับประทานอาหารที่หลากหลายจะช่วยให้เด็กก่อนวัยเรียนได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบทุกหมู่ แล้วเด็กๆ ก็จะอยากลองทานอาหารใหม่ๆ มากขึ้นและจะเข้าใจว่าการรับประทานอาหารที่หลากหลายคือพฤติกรรมการรับประทานที่
ให้เด็กรับประทานอาหารอย่างน้อย 3-4 หมู่ในมื้อหลัก เลือกอาหารว่างที่มีสารอาหารสูง เช่น ผลไม้ ชีส หรือผลิตภัณฑ์จากนม ขนมปังโฮลวีท เพื่อเพิ่มการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ให้รับประทานอาหารหลักและอาหารว่างเป็นเวลา

ให้รับประทานอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 หรือ 3 ครั้งต่อวัน เว้นระยะอาหารมื้อหลักกับอาหารว่างไม่เกิน 1.5 ชั่วโมงเพื่อเผื่อท้องไว้สำหรับอาหารมื้อหลัก กำหนดระยะเวลาการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น มื้อละ 30 นาที เมื่อเด็กไม่อยากรับประทานอาหาร อาจเป็นเพราะอิ่มแล้ว พยายามอย่าให้นมหรืออาหารว่างที่เด็กชอบหลังอาหารมื้อหลัก เพราะจะทำให้เด็กไม่ยอมรับประทานอาหารมื้อหลักเพื่อรอรับประทานอาหารว่างแทน กำหนดเวลาอาหารว่างอาจยืดหยุ่นได้ ถ้าเด็กบอกว่าหิวก็สามารถให้รับประทานอาหารว่างเล็กน้อยที่ดีต่อสุขภาพได้

ให้เด็กเลือกว่าจะรับประทานมากเท่าไหร่

ตักอาหารให้เด็กรับประทานแต่น้อยแค่พออิ่ม บอกเขาว่าถ้ารับประทานหมดแล้วยังหิวก็ขอเพิ่มได้อีก ห้ามบังคับให้เด็กรับประทานจนหมด ปล่อยให้เด็กเรียนรู้และตอบสนองต่อความอิ่มเอง ให้เขาเลือกว่าจะรับประทานมากน้อยแค่ไหน การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันการรับประทานอาหารมากเกินไปและป้องกันโรคอ้วนในระยะยาว และยังทำให้มื้ออาหารกลายเป็นช่วงเวลาที่สนุกและผ่อนคลาย

อย่าล้มเลิกการลองป้อนอาหารชนิดใหม่ๆ

เด็กๆ จะไม่ค่อยยอมรับอาหารและผักชนิดใหม่ๆ โดยทันที บางครั้งต้องพยายามกว่า 10 รอบ เด็กถึงจะเต็มใจลองรับประทานอาหารชนิดใหม่ๆ
คุณต้องเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก พวกเขาพร้อมที่จะลองหากคุณร่วมรับประทานอาหารแบบเดียวกันด้วย
เด็กบางคนอาจจะพร้อมยอมรับประทานอาหารใหม่ที่ผสมรวมกับอาหารอื่นที่คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่บางคนก็ไม่เป็นเช่นนั้น ให้ลองนำเสนอหลายๆ วิธี เช่น ทำอาหารใหม่ให้ดูเรียบง่ายและแยกไว้ในจานต่างหาก

ให้รางวัลเด็กด้วยการให้ความสนใจ ไม่ใช่อาหาร

ให้รางวัลเด็กด้วยการกอด หอม กล่าวชมเชย เล่นด้วย เล่านิทาน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน
การให้รางวัลเด็กด้วยอาหารจะทำให้เด็กต้องการอาหารนั้นมากขึ้น ถ้าเราให้ของหวานหรือขนมขบเคี้ยวเป็นรางวัล เด็กจะชอบอาหารดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ถ้าเราบอกเด็กว่า "กินผักให้หมดก่อนแล้วจะได้กินขนม" เด็กๆ ก็จะเริ่มหันมาชอบขนมหวานและเกลียดผัก
หลีกเลี่ยงการใช้อาหารปลอบใจเด็ก เพราะจะทำให้เด็กคิดว่าการรับประทานอาหารคือการปลอบใจ ให้ปลอบเด็กด้วยการกอด หอม หรือพูดคุย

สร้างสภาพแวดล้อมในการรับประทานที่ดี
มื้ออาหารคือช่วงเวลาที่เราจะได้ตระหนักถึงคุณค่าของอาหารและการรับประทาน เด็กโตสามารถช่วยงานง่าย ๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้ เช่น จัดโต๊ะ ล้างผักหรือผลไม้ จะช่วยให้เด็กรู้สึกถึงความภาคภูมิใจและความสำเร็จ
สร้างบรรยากาศที่ดีโดยการร่วมนั่งรับประทานอาหารกับเด็กๆ ลดสิ่งที่จะหันเหความสนใจ เช่น ของเล่นหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และควรปิดโทรทัศน์ขณะรับประทานอาหาร

สร้างตัวอย่างที่ดีโดยทำตัวให้กระฉับกระเฉงเพื่อรักษาสุขภาพ ให้เวลาเล่นเป็นเวลาของครอบครัว ควรเดิน วิ่ง และเล่นไปพร้อมกับเด็กๆ ดีกว่าการนั่งดูโทรทัศน์