ความเจ็บป่วยเล็กน้อยในการตั้งครรภ์ระยะกลางและการจัดการ

(เนื้อหาปรับปรุงใหม่ 01/2020)

ระหว่างการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน และโปรแลคติน ได้เปลี่ยนแปลงร่างกายของผู้เป็นแม่ให้เป็นสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับทารกในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปกติ

  • ความเจ็บป่วยเล็กน้อยส่วนใหญ่ในการตั้งครรภ์จะลดลงหลังคลอดโดยธรรมชาติ ดังนั้นหญิงมีครรภ์ไม่จำเป็นต้องกังวล
  • ควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรและยาระหว่างการตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ เพราะตัวยาเหล่านี้สามารถเข้าถึงระบบการไหลเวียนเลือดของตัวอ่อนผ่านทางรกได้ ยาบางประเภทมีผลเป็นพิษหรือมีผลต่อความผิดปกติของการพัฒนาการร่างกายของทารกในครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เสมอก่อนการใช้ยาใด ๆ
  • น้ำมันหอมระเหยสำหรับอโรมาเทอราพีอาจไม่ปลอดภัยระหว่างการตั้งครรภ์ โปรดปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ก่อนการใช้อโรมาเทอราพี
  • การเพิ่มขึ้นของโปรเจสเตอโรนในระหว่างการตั้งครรภ์ก่อให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด ดังนั้นจึงเกิดการสะสมเลือดในแขนขาช่วงล่าง
  • ในขณะเดียวกันทารกในครรภ์ที่กำลังเติบโตจะเพิ่มความดันในช่องท้องและส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด ซึ่งส่งผลให้เป็นเส้นเลือดขอด มีอาการบวมที่แขนขาช่วงล่าง และเกิดตะคริวที่ขา

ตะคริวที่ขา

  • สิ่งนี้มักเกิดขึ้นตอนพักผ่อนและดังนั้นจึงอาจมีผลกระทบต่อการนอน ซึ่งมักเป็นผลมาจากความตึงของกล้ามเนื้อ
  • บางครั้งการอาเจียนอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่การมีแคลเซียมและโปแตสเซียมในเลือดต่ำได้ซึ่งส่งผลให้เป็นตะคริว
  • หากมีการอาเจียนอย่างรุนแรงในเวลาเดียวกัน อาจจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการชดเชยเกลือแร่ที่โรงพยาบาล

การยืดกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำหรือก่อนเข้านอนสามารถช่วยแม่ตั้งครรภ์ในการลดการเป็นตะคริวที่ขาได้

การออกกำลังกายที่สามารถลดการเป็นตะคริวที่ขาได้

  1. ยืนข้างหน้ากำแพงด้วยระยะแขนหรือประมาณ 60 เซนติเมตร วางแขนของท่านบนผนัง
  2. ก้าวขาซ้ายของท่านไปข้างหน้า งอหัวเข่าซ้ายเล็กน้อย รักษาให้ขาขวาตรง ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย
  3. ทำซ้ำที่ขาอีกข้างและทำซ้ำทั้งเซต 3 ครั้ง
  1. นั่งบนเก้าอี้
  2. ยืดขาขวาตรง ดึงฝ่าเท้าเข้าหาตัวด้วยผ้าขนหนู ค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย
  3. ทำซ้ำที่ขาอีกข้างและทำซ้ำทั้งเซต 3 ครั้ง

เคล็ดลับ

  • ยืดกล้ามเนื้อน่องของท่านเล็กน้อยในกรณีที่ขาเป็นตะคริว
  • หากท่านกำลังยืน ให้ยืดขาที่เป็นตะคริวโดยทำให้ขาตรงไว้
  • นวดหรือใช้ประคบร้อนที่บริเวณน่องหากขายังเป็นตะคริวอยู่

เส้นเลือดขอด

  • เส้นเลือดขอดคือเส้นเลือดบวมที่นูนใกล้กับผิวชั้นนอกของผิวหนัง มักจะเกิดขึ้นที่ขา บางครั้งเกิดขึ้นบริเวณแคมช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์
เคล็ดลับ
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน ๆ
  • หลีกเลี่ยงการนั่งด้วยขาไขว่ห้าง
  • ใส่รองเท้าแบนแทนส้นสูงเนื่องจากกล้ามเนื้อน่องของท่านจะขยับได้ดีกว่าและส่งเสริมการไหลเวียนของเลือด
  • นั่งโดยยกขาขึ้นให้บ่อยเท่าที่ทำได้ เพื่อบรรเทาความไม่สบายตัว
  • นอนโดยให้ขาสูงกว่าส่วนที่เหลือของร่างกายท่าน-ใช้หมอนหนุนใต้ข้อเท้าหรือวางหนังสือใต้เท้าของท่าน
  • การออกกำลังกายเท้าและการออกกำลังกายก่อนคลอดอื่น ๆ เช่น การเดินและการว่ายน้ำ จะช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือดของท่าน
  • เพื่อป้องกันการคั่งของเลือดในขาของท่าน ในขณะที่ท่านยังนอนอยู่ให้สวมถุงเท้ายาวก่อนลุกออกจากเตียงในตอนเช้า วิธีนี้จะทำให้เลือดไหลไปที่หัวใจของท่านได้ง่ายกว่า

หากท่านมีเส้นเลือดขอดหรือต้องยืนเป็นระยะเวลานาน ท่านควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการสวมถุงน่องรักษาเส้นเลือดขอด

การออกกำลังกายสามารถทำให้กล้ามเนื้อน่องแข็งแรงได้และทำให้การไหลเวียนเลือดในแขนขาส่วนล่างดีขึ้น

  1. ยืนโดยใช้มือจับเก้าอี้ จากนั้นค่อย ๆ ยกส้นเท้าขึ้นและยืนบนนิ้วเท้า ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำเซตนี้ซ้ำ 5 ถึง 10 ครั้ง ทำหลาย ๆ ครั้งต่อวัน
  2. ท่านสามารถทำการออกกำลังกายแบบที่สองได้เมื่อนั่งบนเก้าอี้โดยงอเท้าขึ้นและลง
  3. หมุนเท้าตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกา

ความเจ็บปวดที่เท้า

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของจุดศูนย์ถ่วงระหว่างการตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อวิธีการเดินของท่านเนื่องจากกล้ามเนื้อขาจะอ่อนล้าง่าย

เส้นเอ็นรองฝ่าเท้าอยู่ภายใต้การตึงที่เพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่อาการปวดส้นเท้า ปวดเท้าและโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ

เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและมีพื้นที่เพียงพอและรองรับส่วนโค้งและข้อเท้าได้ดี รองเท้าที่มีส้นกว้างและความสูงพอเหมาะจะช่วยกระจายความตึงบนฝ่าเท้าได้

อาการปวดคอ ไหล่และหลัง

อาการปวดคอ ไหล่และหลังเป็นเรื่องปกติในระหว่างการตั้งครรภ์

สาเหตุ

  1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เกิดการยืดที่เส้นเอ็น ข้อต่อกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกรานและหัวหน่าวจะหลวมซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดคอหลังและหัวหน่าว
  2. เมื่อทารกในครรภ์เติบโต จุดศูนย์ถ่วงของแม่จะเลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มน้ำหนักบนกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลัง การอยู่ในท่าที่ดี การออกกำลังกายเป็นประจำและการออกกำลังกายยืดเส้นจะสามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้

วิธีการที่จะปรับปรุงท่าทางของท่าน

  1. ในขณะยืน
    • ถ่ายน้ำหนักบนเท้าให้เท่า ๆ กัน ผ่อนคลายไหล่และดึงไหล่ไปข้างหลังเล็กน้อย รักษาให้หลังตรงอยู่เสมอ
    • รักษาให้ศรีษะตั้งตรง ให้ติ่งหูตรงกับไหล่เพื่อรักษาตำแหน่งคอให้ตั้งตรงกลาง
    • เกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน

หากท่านต้องยืนในบางโอกาส ให้ถ่ายการรับน้ำหนักไปด้านต่าง ๆ เป็นพัก ๆ

  1. เมื่อนั่ง
    • เมื่อทำงานที่โต๊ะ ให้ปรับความสูงของที่นั่งเพื่อรักษาตำแหน่งของคอให้อยู่กึ่งกลาง
    • ปรับความสูงที่นั่งหรือใช้ที่พักเท้าเพื่อที่เท้าทั้งสองจะได้พักบนพื้นและหัวเข่าจะได้อยู่ในมุมที่ถูกต้อง
    • หลังควรได้รับการหนุนอย่างดีจากพนักพิงของเก้าอี้ ใช้หมอนอิงหรือหมอนเพื่อหนุนหลังหากจำเป็น

หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน เปลี่ยนอิริยาบถเป็นพัก ๆ โดยตึงกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกรานอย่างแผ่วเบาเมื่อท่านขยับ

  1. เมื่อยืนขึ้นจากท่านั่ง
    • ตึงกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน
    • วางมือของท่านบนต้นขาทั้งสองข้างหรือที่วางแขนของเก้าอี้เพื่อเป็นที่หนุน
    • จากนั้นเอนตัวไปข้างหน้าเพื่อยืนขึ้น
  2. ในการลุกออกจากเตียง
    • ให้ขาชิดกันและงอเข่า จากนั้นหมุนไปยังข้างหนึ่ง
    • ตึงกล้ามเนื้อหน้าท้องและอุ้งเชิงกราน ดันร่างกายขึ้นด้วยทั้งสองมือและนั่งข้างเตียง
    • วางมือบนต้นขาทั้งสองข้างเพื่อหนุนเอียงมาข้างหน้าจากนั้นก็ยืนขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นด้วยท่าซิทอัพ
  3. นอนหลับโดยการนอนตะแคงและพักหลังบนที่พิงเพื่อรองรับแผ่นหลังส่วนล่าง

การยกวัตถุหนัก

  1. เมื่อยกวัตถุหนัก ยืนให้ชิดกับวัตถุ
  2. งอเข่า ยืดขาเพื่อยก
  3. จำไว้ว่าให้ตึงกล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังต้องตรงเสมอเมื่อท่านยก
  4. เมื่อถือวัตถุหนัก ให้ถือทั้งสองมือหรือใช้รถเข็น
  5. หลีกเลี่ยงหนุนเด็กด้วยหน้าท้อง ใช้ทั้งสองด้านของเอวเป็นตัวหนุนหากท่านจำเป็นต้องอุ้มเด็ก

ขอความช่วยเหลือถ้าจำเป็น

การออกกำลังกายยืดเส้นที่สามารถบรรเทาอาการปวดไหล่ คอและหลังได้

  1. การออกกำลังยืดคอ
    1. ในการยืดกล้ามเนื้อคอ ให้นั่งบนเก้าอี้พร้อมหลังตรง
    2. เก็บคาง ดึงหัวไปข้างหลังเล็กน้อย ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย
    3. ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  2. การออกกำลังกายยืดไหล่
    • หมุนไหล่ขึ้นข้างบนเบา ๆ จากนั้นหมุนไปข้างหลังและหมุนลงข้างล่าง
  3. การออกกำลังกายยืดแขนส่วนบน
    • ท่านสามารถทำได้ทั้งในตอนนั่งหรือยืน
      1. รักษาหลังให้ตรง นำนิ้วมือผสานกันโดยหันฝ่ามือออก จากนั้นยกแขนขึ้นเหนือหัวจนหลังส่วนบนและแขนยืดเล็กน้อย ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำ 10 ครั้ง
      2. มือทั้งสองข้างแตะกันด้านหลัง ผสานนิ้วโดยนิ้วหัวแม่มือชี้ลงล่าง จากนั้นยกแขนขึ้นจนหน้าอกและแขนยืดขึ้นเล็กน้อย ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำ 10 ครั้ง
      3. รักษาหลังให้ตรง ผสานนิ้วโดยหันฝ่ามือออก เหยียดแขนตรงและเอื้อมไปข้างหน้าจนหลังส่วนบนยืดเล็กน้อย ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  4. การยืดหลังช่วงล่าง
    1. ยืนโดยให้หลังและก้นพิงกำแพง ให้เท้าห่างกันในระยะเท่าไหล่
    2. พิงหลังและก้นของท่านกับกำแพง
    3. หายใจตามธรรมชาติ ตึงหน้าท้องเพื่อกดหลังส่วนล่างเข้ากับกำแพง
    4. ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย
    5. ทำซ้ำ 10 ครั้ง

หญิงมีครรภ์ควรหยุดออกกำลังกายถ้ารู้สึกไม่ดี

การใส่เข็มขัดพยุงครรภ์และการทำกายภาพบำบัดสามารถลดอาการเจ็บที่หลังส่วนล่างได้ ปรึกษาแพทย์หากอาการแย่ลง

โรคริดสีดวงทวาร (Piles)

  • เมื่อมดลูกโตมากขึ้นในการตั้งครรภ์ระยะท้าย ๆ ความดันอุ้งเชิงกรานจะเพิ่มขึ้นและอาจทำให้เกิดริดสีดวงได้
  • ความดันอุ้งเชิงกรานจะยิ่งสูงขึ้นระหว่างการคลอดและริดสีดวงทวารอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • บ่อยครั้งมากที่โรคริดสีดวงทวารจะลดลงไปเองโดยธรรมชาติภายในไม่กี่เดือนหลังคลอด

เคล็ดลับ

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวันและบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก
  • ใช้ยารักษาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ปรึกษาแพทย์หากมีเลือดไหลออกมาจำนวนมากในขณะอุจจาระ

ปัญหาผิวหนัง

ผื่นคัน

ระหว่างการตั้งครรภ์ ผิวหนังจะบอบบางมากขึ้นและบางครั้งจะรู้สึกคันเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ท่านอาจสังเกตเห็นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงหรือรอยแดงขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยเกิดขึ้นโดยเฉพาะบนหน้าท้อง ขาและก้นของท่าน ในกรณีส่วนใหญ่ ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลและมันจะหายไปเองหลังการคลอดในไม่กี่สัปดาห์

เคล็ดลับ

  • พยายามอย่าเกาเพราะจะยิ่งทำให้อาการคันแย่ลงและอาจก่อให้เกิดผิวหนังติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำร้อนที่มีไอน้ำ การถูผ้าขนหนูบนผิวหนังและการใช้สบู่ที่มากเกินไป
  • สวมใส่เสื้อผ้าฝ้ายหลวม
  • ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ในปริมาณที่เพียงพอ

หากท่านมีอาการต่อไปนี้ ท่านควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจเกี่ยวข้องกับอาการน้ำดีคั่งในตับในช่วงตั้งครรภ์ หรือภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์

  • ถุงน้ำเล็ก ๆ
  • อาการคันที่รุนแรงและต่อเนื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ
  • ไข้ ดีซ่าน (ตาขาวและผิวหนังมีสีเหลือง) สีของปัสสาวะของท่านคล้ำลง ปวดข้อ

สิว

ท่านอาจมีสิวกำเริบเมื่อท่านตั้งครรภ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

เคล็ดลับ

  • รักษาผิวของท่านให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ร้อนและเผ็ด
  • ท่านควรปรึกษาแพทย์แทนการใช้ยาจากร้านขายยาทั่วไปสำหรับสิวที่แย่ลง ยารักษาสิวบางชนิดอาจนำไปสู่ความพิการของทารกของท่านได้

ผิวแตกลาย (Striae)

  • บ่อยครั้งผิวแตกลายเป็นผลมาจากการยืดขยายอย่างรวดเร็วของผิวหนัง หญิงตั้งครรภ์จำนวนมากจึงเกิดผิวแตกลายในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหญิงที่ต้องรับน้ำหนักตัวที่มากของทารกหรือภาวะการตั้งครรภ์แฝด
  • ผิวแตกลายมักจะปรากฎบนผิวหนังหน้าท้อง ต้นขาและเต้านม เริ่มแรกจะปรากฎเป็นสีชมพู เมื่อทารกเติบโตจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หลังคลอดจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว กระนั้นผิวแตกลายอาจจะไม่หายไปโดยสมบูรณ์

เคล็ดลับ

  • จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีครีมใดที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันผิวแตกลายได้อย่างสมบูรณ์
  • การรักษาให้ผิวชุ่มชื้นเป็นอย่างดีโดยการทาโลชันและน้ำมันมะกอกจะช่วยลดความรุนแรงของผิวแตกลายได้
  • ผิวแตกลายจะค่อย ๆ หายไปหลังการคลอด การออกกำลังกายหลังคลอดสามารถช่วยกระชับผิวที่หน้าท้องได้ (โปรดอ้างถึงแผ่นพับ “การออกกำลังกายหลังคลอด” )

ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นโดยกรมอนามัยและแผนกกายภาพบำบัดขององค์การโรงพยาบาล